โรคเมลิออยด์ เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อเมลิออยด์ (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ เบอโคโดเรีย สูโดมาลิอาย) ที่พบได้ทั่วไปในดินและน้ำในประเทศไทย แม้ว่าโรคนี้ฆ่าคนไทยตายมากกว่าปีละ 1,000 คนทุกปี (มากกว่า จำนวนคนไทยที่ตายจาก มาลาเรีย ฉี่หนู ไข้หวัดนก และไข้เลือดออก รวมกันเสียอีก) แต่โรคเมลิออยด์ยังไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบวิธีการป้องกันและไม่รู้จักโรคติดเชื้อนี้เลยด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวนาและต้องสัมผัสดินและน้ำ และเสี่ยงที่จะเป็นโรคเมลิออยด์อยู่ตลอดเวลา
เราอยากให้คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้จักและเข้าใจถึงวิธีการป้องกันโรคเมลิออยด์อย่างถูกต้อง และสามารถบอกต่อๆ ออกไปเพื่อให้เราคนไทยไม่ต้องเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้อย่างโรคเมลิออยด์
ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเมลิออยด์มากกว่า 2,500 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเมลิออยด์ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1,000 รายต่อปี
อัตราการติดเชื้อโรคเมลิออยด์ในประเทศไทยสูงขึ้นทุกปี เชื้อเมลิออยด์เป็นเชื้อก่อโรคในโรคติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดจากชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงเป็นอันดับ 2 (19.3%) รองจากเชื้ออีโคไล (23.1%) และ สูงกว่าเชื้อสแตฟออเรียส (8.2%)
จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคเมลิออยด์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อปี สูงเทียบเท่ากับผู้เสียชีวิตด้วยโรควัณโรค และมากกว่าโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่รู้จักกันดี เช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออก โรคหัด และโรคฉี่หนู
จากการประมาณการเศรษฐศาสตร์ มีการสูญเสียทางประมาณ 435,000 บาทต่อผู้เสียชีวิตด้วยโรคเมลิออยด์หนึ่งราย ดังนั้นคาดว่า
ในแต่ละปีประเทศไทยสูญเสียเนื่องจากโรคเมลิออยด์ อย่างน้อย 435,000,000 บาทต่อปี
ชื่อโรค
“โรคเมลิออยด์” เป็นชื่อภาษาไทยสำหรับโรค Melioidosis ซึ่งกำหนดโดยการประชุมเครือข่ายโรคเมลิออยด์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2555 ระหว่างตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและคณะนักวิจัย “เมลิออยด์” ถูกเลือกเป็นชื่อภาษาไทยเนื่องจากคำว่า “เมลิออยโดสิส” ที่เป็นศัพท์ทางการแพทย์มีความยาวเกินไปและยากต่อการเรียก ในขณะที่ “เมลิออยด์” เป็นคำที่ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคนี้มักใช้เรียกกัน และ “คลินิกเมลิออยด์” เป็นชื่อเรียกของคลินิกสำหรับโรคนี้ในหลายๆ โรงพยาบาลในภาคอีสาน ชื่ออื่นๆ ที่ได้มีการแนะนำไว้ก่อนหน้านี้เช่น “โรคไข้ดิน” “โรคฝีดิน” และ “โรคมงคล่อเทียม” ไม่สื่อความหมายและไม่ครอบคลุมธรรมชาติของโรคที่มีการติดเชื้อจากทั้งดินและน้ำได้อย่างเพียงพอ ในประเทศไทยประชาชนทั่วไปได้มีการรับเอาชื่อโรคภาษาอังกฤษสามพยางค์มาใช้ก่อนหน้านี้หลายโรคเช่นโรคมาลาเรียและโรคลีเจียนแนร์เป็นต้น ดังนั้น “โรคเมลิออยด์” จึงได้รับการเลือกให้เป็นชื่อภาษาไทยสำหรับโรคนี้
ลักษณะโรค
โรคเมลิออยด์เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ระบาดในประเทศไทย ไม่มีอาการแสดงที่จำเพาะ ยากต่อการวินิจฉัย ไม่มีชุดตรวจคัดกรองใดๆ ที่มีความแม่นยำในการวินิจฉัยเบื้องต้น มีอัตราการเสียชีวิตสูง ยากต่อการรักษา ผู้ป่วยมีอาการแสดงได้หลากหลายและไม่มีอาการจำเพาะ ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการไข้สูงเพียงอย่างเดียว อาจมีไข้สูงช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือดโดยไม่มีอาการจำเพาะที่อวัยวะใดๆ อาจมีอาการปอดอักเสบติดเชื้อมีไข้ไอมีเสมหะเจ็บหน้าอก หรืออาจมีเนื้อตายหรือฝีหนองที่ปอดตับหรือม้าม ผู้ป่วยมักมีอาการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ จากการติดเชื้อ (multiple organ failure) และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
โรคเมลิออยด์มีอาการได้หลากหลาย และไม่มีอาการเฉพาะ อาจมาด้วยอาการแตกต่างกันดังต่อไปนี้
-
ไข้สูง มีอาการ sepsis, severe sepsis หรือ septic shock จากการติดเชื้อในกระแสเลือด (bacteremia)
-
ปอดติดเชื้อเฉียบพลัน (acute pneumonia) เช่น ไข้ ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก
-
ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection) เช่น ไข้ และอาจมีปัสสาวะแสบขัด
-
ติดเชื้อในข้อ (acute septic arthritis) เช่น ไข้ มีข้อบวม แดง ร้อน
-
ฝี (abscess) ซึ่งพบได้บ่อยในตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ตามผิวหนัง และอาจพบได้ในทุกอวัยวะในร่างกายเช่น ฝีในสมอง ฝีในตา ฝีในช่องคอชั้นลึก ฝีในปอด หนองในเยื่อหุ้มปอด หนองในเยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดโป่งพองจากการติดเชื้อ (mycotic aneurysm) ฝีในไต และ ฝีในต่อมลูกหมาก
-
ต่อมน้ำลายพาโรติดอักเสบเป็นฝี (acute suppurative parotitis) พบได้บ่อยในเด็ก
-
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการรุนแรงและเฉียบพลัน แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการเรื้อรังและให้อาการคล้ายโรคอื่นๆ ได้ เช่น ไอเรื้อรังคล้ายวัณโรค แผลเรื้อรังคล้ายมะเร็งผิวหนัง
-
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ทาลัสซีเมีย และโรคไต มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเมลิออยด์มากกว่าคนปกติ แต่ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ประมาณ 1 ใน 4 ก็ไม่มีประวัติโรคประจำตัวใดๆ มาก่อน
เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory Criteria)
-
เพาะเชื้อจากเลือดหรือสิ่งส่งตรวจต่างๆ พบ Burkholderia pseudomallei
สิงหาคม, 2 OK Nation
กรกฏาคม, 24 ผู้จัดการ
โรคเมลิออยโดสิส" ทำคนไทยตายเป็นลำดับ 3 รองจากเอดส์ - วัณโรค
เช้าข่าวข้น
สกู๊ปข่าวเกี่ยวกับโรคเมลิออยด์ในประเทศไทย
เราต้องการความช่วยเหลือจากทุกๆ คนเพื่อที่จะให้เวปไซต์ของเรามีส่วนช่วยสังคมของเราให้มากที่สุด เราจะยินดีเป็นอย่างมากถ้าท่านเขียนบทความใดๆ หรือส่งสิ่งใดๆ ที่ท่านต้องการให้ปรากฏบนเวปไซต์มาให้เรา เราจะมีคณะบรรณาธิการเพื่อทำการกลั่นกรองและช่วยเหลือท่าน เราจะไม่สามารถมีสิ่งดีๆ ให้คนอื่นได้เลย ถ้าเราไม่มีท่าน เราจะมีรายนามขอบคุณท่านอย่างเหมาะสม ถ้าท่านมีข้อแนะนำหรือติชม
… เขียนมาหาเรา หรือที่หน้า
Facebook ของเรา